ลักษณะของแมวไทยตามสายพันธุ์


แมววิเชียรมาศ

แมววิเชียรมาศ ตรงกับความหมายว่า "เพชรแห่งดวงจันทร์" หรือ "Moon Diamond" บางตำราก็เรียก "แมวแก้ว" ซึ่งก็ตรงกับคำว่า "วิเชียร" แมวชนิดนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแมวเก้าแต้มเสมอ ที่จริงแล้วไม่ถูกต้อง แมวเก้าแต้มคือแมวที่มีสีพื้นสีขาว และมีแต้มบนร่างกาย 9 แห่ง เหตุที่มักเข้าใจผิดเพราะแมววิเชียรมาศ จะมีสีพื้นสีขาวงาช้าง (หรือโบราณจะเป็นขาวล้วนก็ไม่ทราบ) และมีแต้มที่จมูกครอบไปถึงปากเป็นหนึ่งแห่ง กับขาทั้งสี่ หูสอง หางหนึ่ง และที่อวัยวะเพศอีกหนึ่ง รวมเป็น 9 แห่งเช่นกัน ในแมววิเชียรมาศนี้แต้มตามตำราว่าไว้ว่าต้องเป็นสีดำดังหมึกวาด แต่ปัจจุบันเมื่อดูให้ดีแล้วจะเป็นแต้มสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ไม่ได้ดำสนิท หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า Seal brown หรือแต้มสีครั่ง แมววิเชียรมาศเป็นที่รู้จักในต่างประเทศโดยใช้ชื่อว่า แมวสยาม (Siamese Cat) แต่ต่างประเทศจะมีแต้มสีอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งในบ้านเราจะยอมรับเฉพาะแมวที่มีแต้มสีน้ำตาลเข้มเท่านั้น นัยน์ตาสีฟ้าก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของแมวชนิดนี้
 ลักษณะโดยทั่วไป
ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

    * ลักษณะสีขน : ขนสั้นแน่นสีขาว หรือสีน้ำตาลอ่อน มีแต้มสีครั่ง หรือสีน้ำตาลไหม้ที่บริเวณใบหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่ หางและที่อวัยวะเพศ (ทั้งแมวเพศผู้และแมวเพศเมีย) รวม 9 แห่ง ขณะที่อายุยังน้อย หรือเป็นลูกแมว สีขนจะออกสีครีมอ่อนๆ หรือขาวนวล พอโตขึ้นสีจะค่อยๆ เข้มขึ้นตามลำดับจนเป็นสีน้ำตาล (สีลูกกวาด)

    * ลักษณะของส่วนหัว : รูปหัวไม่กลม หรือแหลมเกินไป หน้าผากใหญ่และแบน จมูกสั้น หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว

    * ลักษณะของนัยน์ตา : ตาสีฟ้า

    * ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้ไม่ประเสริฐส่วนกับลำตัว

ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนยาวเกินไป มีแต้มสีไม่ครบทั้ง 9 แห่ง แต้มสีอื่นที่ไม่ใช่สีน้ำตาลไหม้ นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่นๆ ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นเกินไป (เมื่อยืนขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว ) หางขอด หางหงิกงอ หางสดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี

บทกวีที่กล่าวถึงแมววิเชียรมาศ

ปากบนหางสี่เท้า    โสตสอง
แปดแห่งดำดุจปอง    กล่าวไว้
ศรีเนตรดั่งเรือนรอง    นาคสวาดิ ไว้เอย
นามวิเชียรมาศไซร้    สอดพื้นขนขาว


แมวศุภลักษณ์

แมวศุภลักษณ์เรียกอีกชื่อว่าแมวทองแดง มีสีทองแดงหรือน้ำตาลแดงเข้มทั่วตัว อาจมีสีเข้มเป็นพิเศษตำแหน่งเดียวกับแมววิเชียรมาส แมวทองแดงมีรูปร่างขนาดกลาง สง่า น้ำหนักตัวพอประมาณ ขายาวเรียวฝ่าเท้าอวบ ศีรษะค่อนข้างกลมกว้าง ด้วยสีขนออก น้ำตาลเข้ม เหมือนกับสีของทองแดง มีตาสีออกเหลือง หรือ สีอำพัน หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง และบริเวณตามส่วนของร่างกาย เช่นหน้า หู ปลายขา และ หางจะมีสีน้ำตาลเข้มกว่าบริเวณลำตัวทั่วๆไป แมวพันธุ์ศุภลักษณ์จะมีสีสันสะดุดตาอย่างมาก และ มีความสวยงาม สมคำ "ศุภลักษณ์"ที่แปลว่าลักษณะที่ดี ว่ากันว่าแมวชนิดนี้เป็นแมวที่ได้ติดตามเจ้าของที่เป็นคนไทยซึ่งถูกกวาดต้อน ไปเป็นเชลยศึกที่พม่า เมื่อความนิยมได้แพร่หลายมากขึ้น ชาวต่างชาติจึงได้นำไปจดทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์หนึ่งของโลก โดยใช้ชื่อว่า Burmese แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองไทย

แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ อยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย รักอิสระเสรีเหนืออื่นใด ชอบสนใจสิ่งต่างๆรอบตัว กับคนแปลกหน้าแล้วมันดูจะเป็นแมวที่ร้ายพอสมควร ว่ากันว่าแมวชนิดนี้เป็นแมวที่ได้ติดตามเจ้าของที่เป็นคนไทยซึ่งถูกกวาดต้อน ไปเป็นเชลยศึกที่พม่า เมื่อความนิยมได้แพร่หลายมากขึ้น ชาวต่างชาติจึงได้นำไปจดทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์หนึ่งของโลก โดยใช้ชื่อว่า Burmese แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองไทยนี่เอง ผู้ใดเลี้ยงไว้มีแต่จะเพิ่มยศยิ่งขึ้นไป

ปัจจุบันเมืองไทย หายากมากแต่ มีทั่วไปในอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งเขาได้พัฒนาผสมพันธุ์กัน จนได้แมวในลักษณะ สีอื่นๆมากมาย ทำนองคล้ายพันธุ์วิเชียรมาศที่แยกออกไปถึง 8 พันธุ์

    ลักษณะโดยทั่วไป
ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

    * ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีน้ำตาลเข้มคล้ายสีสนิม (สีทองแดง) บริเวณส่วนหู ใบหน้า ปลายขา หาง จะมีสีน้ำตาลเข้มกว่าบริเวณลำตัวทั่วๆ ไป

    * ลักษณะของส่วนหัว : ค่อนข้างกลมและกว้าง หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง หูใหญ่
* ลักษณะของนัยน์ตา : แมวชนิดนี้จะมีดวงตาออกเป็นลักษณะเหลืองๆ หรือออกสีอำพัน หนวดของแมวศุภลักษณ์จะมีสีแวววาวเหมือนกับลวดทองแดงเลยทีเดียว

    * ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายหางแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขาวยาวเรียวได้ไม่ประเสริฐส่วนกับลำตัว

 ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนยาวเกินไป สีอ่อนเกินไป มีแต้มสีขาวปน เช่น ที่บริเวณหน้าอก หรือช่องท้อง มีไม่สม่ำเสมอ เช่น มีลายเห็นเป็นทางตามลำตัว โดยเฉพาะตามใบหน้า ขาและหาง นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป (เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว ) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี


บทกวีที่กล่าวถึงแมวศุภลักษณ์

วิลาศุภลักษณ์ล้ำ    วิลาวรรณ
ศรีดังทองแดงฉัน    เพริศแพร้ว
แสงเนตรเฉกแสงพรรณ    โณภาษ
กรรษสรรพโทษแล้ว    สิ่งร้ายคืนเกษม


แมวมาเลศ

แมวโคราช หรือ แมวมาเลศ ต้นกำเนิดพบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือที่รู้จักกันในนามว่าโคราช มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแมวโคราชในสมุดข่อยที่เขียนขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1350-1767 หรือประมาณ พ.ศ. 1893-2310 ในบันทึกได้กล่าวถึงแมวที่ให้โชคลาภที่ดี 17 ตัวของประเทศไทย รวมถึงแมวโคราชด้วย ปัจจุบันสมุดข่อยนี้ถูกเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

แมวเพศผู้มีสีเหมือนดอกเลา จึงเรียก แมวสีดอกเลา โดยจะต้องมีขนเรียบ ที่โคนขนจะมีสีขุ่น ๆ เทา ในขณะที่ส่วนปลายมีสีเงิน เป็นประกายคล้ายหยดน้ำค้างบนใบบัว หรือเหมือนคนผมหงอก

ชื่อแมวโคราช เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้แหล่งกำเนิดของแมวเป็นชื่อเรียกพันธุ์แมว มีเรื่องเล่ามากมายหรือเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับแมวโคราช รวมถึงตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงการที่แมวโคราชมีหางหงิกงอมากเท่าไหร่จะมี โชคลาภมากเท่านั้น (แม้ว่าลักษณะหางหงิกงอไม่ใช่มาตรฐานพันธุ์ตามหลักของ CFA ก็ตาม) แต่คนไทยบางกลุ่มจะเรียกแมวโคราชว่า แมวสีสวาด

แมวโคราชได้ถูกนำไปเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกโดย Cedar Glen Cattery ในมลรัฐโอเรกอน โดยได้รับมาจากพี่น้องชื่อ นารา (Nara) และ ดารา (Darra) ในวันที่ 12 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2502 ประมาณเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2509 นักผสมพันธุ์แมวโคราชและแมวไทย (วิเชียรมาศ) ชาวรัฐแมริแลนด์ ได้นำแมวโคราชประกวดในงานประจำปีและ ได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นที่รู้จัก

ปัจจุบันได้มีการผลักดันให้แมวโคราชขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ประจำชาติไทย ในปี พ.ศ. 2552[1]

    ลักษณะโดยทั่วไป
ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

    * ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีสวาด (silver blue) ทั่วทั้งตัวและเป็นสีสวาดตั้งแต่เกิดจนตาย

    * ลักษณะของส่วนหัว : หัวเมื่อดูจากด้านหน้าจะเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่และแบน หูตั้ง ในแมวตัวผู้หน้าผากมีรอยหยักทำให้เป็นรูปหัวใจเด่นชัดมากขึ้น หูใหญ่ตั้ง ปลายหูมน โคนหูใหญ่ ผิวหนังที่บริเวณจมูกและริมฝีปากสีเงิน หรือม่วงอ่อน

    * ลักษณะของนัยน์ตา : นัยน์ตาสีเขียวสดใสเป็นประกาย หรือสีเหลืองอำพัน ขณะยังเป็นลูกแมวตาจะเป็นสีฟ้า เมื่อโตขึ้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด และเมื่อเติบโตเต็มที่ตาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวใบไม้ หรือสีเหลืองอำพัน

    * ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้ไม่ประเสริฐส่วนกับลำตัว

คนสมัยโบราณมีความเชื่อว่า แมวสีสวาดเป็นแมวนำโชคลาภของคนโคราช และคนเลี้ยงทั่วๆไป จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดิมงคลแก่ผู้เลี้ยง แมวสีสวาดเคยประกวดชนะเลิศในระดับโลกมาแล้วในปี 2503 ที่สหรัฐอเมริกา เป็นแมวตัวเมียชื่อว่าสุนัน และเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก จึงนับว่าแมวไทยได้ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นอันมาก

ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนยาวเกินไป มีสีอื่นปน นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป (เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี

บทกวีที่กล่าวถึงแมวมาเลศ

วิลามาเลศพื้น    พรรณกาย
ขนดังดอกเลาราย    เรียบร้อย
ตาดั่งน้ำค้างย้อย    หยาดต้องสัตบง
โคนขนเมฆมอปลาย    ปลอมเสวตร


แมวโกนจา
แมว "โกนจา" หรือบางแห่งก็เขียนว่า "โกญจา" แมวชนิดนี้เป็นแมวสีดำสนิทตลอดทั้งตัว ขนสั้น ไม่มีสีอื่นใดปะปนเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลักษณะเป็นขนเส้นเล็กละเอียดนุ่มและเรียบตรงทั้งลำตัว ส่วนหัวกลมแต่ไม่โต มีปากเรียวแหลม หูตั้ง นัยตาเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือทองอ่อน อาจเปรียบได้กับดอกบวบแรกแย้มหรือทองดอกบวบ รูปร่างสะโอดสะองคล่องแคล่ว หางยาว ปลายหางแหลมตรง อุ้งเท้าทอดคล้ายเท้าสิงห์ มีความสง่างามขณะเคลื่อนไหว
แมวโกญจาบางทีอาจรู้จักกันในสายพันธุ์บอมเบย์

    ลักษณะโดยทั่วไป
ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

    * ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีดำตลอดทั้งตัว

    * ลักษณะของส่วนหัว : รูปหัวกลมไม่ใหญ่มาก หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว

    * ลักษณะของนัยน์ตา : นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม (สีเหลืองอมเขียว)

    * ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้ไม่ประเสริฐส่วนกับลำตัว

ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนยาวมากเกินไป ขนมีสีอื่นปะปน นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป ( เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว ) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี

บทกวีที่กล่าวถึงแมวโกนจา

กายดำคอสุดท้อง    ขาขนเลเอียดเฮย
ตาดั่งศรีบวบกล    ดอกแย้ม
โกนจาพนนิพนธ์    นามกล่าว ไว้นา
ปากแลหางเรียวแฉล้ม    ทอดเท้าคือสิงห์


แมวนิลรัตน์

แมวนิลรัตน์ เป็นแมวมี สีดำสนิททั้งตัว ขนเป็นมันแวววาว นอกจากนั้น เล็บ ลิ้น ฟัน และนัยน์ตา ยังเป็นสีดำอีกด้วย หางเรียวยาว ตวัดได้ถึงศีรษะ ค่อนข้างหายาก หากใครเลี้ยงไว้จะได้ทรัพย์สินเพิ่มพูน

บทกวีที่กล่าวถึงแมวนิลรัตน์

สมยานามชาติเชื้อ    นิลรัตน์
กายดำสิทธิสามรรถ    เลิศพร้อม
ฟันเนตรเล็บลิ้นทัต    นิลคู่ กายนา
หางสุดเรียวยาวน้อม    นอบโน้มเสมอเศียร

วิลาศ

แมววิลาศ มีสีดำเกือบทั้งตัว ขนเรียบ ยกเว้นใบหูทั้ง 2 ข้าง ปากล่างลงมาถึงหน้าอก ปลายเท้าทั้ง 4 และจากท้ายทอยบนหลังจนถึงปลายหางมีสีขาว หางเรียวยาว นัยน์ตาสีเข้ม รูปร่างสวยงามน่ารัก ใครเลี้ยงจะได้เป็นเจ้าคนนายคน มีทรัพย์สินบริบูรณ์

แมววิลาศ มีสีดำเกือบทั้งตัว ขนเรียบ ยกเว้นใบหูทั้ง 2 ข้าง ปากล่างลงมาถึงหน้าอก ปลายเท้าทั้ง 4 และจากท้ายทอยบนหลังจนถึงปลายหางมีสีขาว หางเรียวยาว นัยน์ตาสีเข้ม รูปร่างสวยงามน่ารัก ใครเลี้ยงจะได้เป็นเจ้าคนนายคน มีทรัพย์สินบริบูรณ์ ื

บทกวีที่กล่าวถึงแมววิลาศ

ราวคอทับถงาดท้อง    สองหู
ขาวตลอดหางดู    ดอกฝ้าย
มีเสวตรสี่บาทตรู    สองเนตร์ เขียวแฮ
งามวิลาศงามคล้าย    โภคพื้นกายดำ

เก้าแต้ม

แมวเก้าแต้ม เป็นแมวสีขาว มีสีดำแต้มสีดำรวมเก้าแห่ง คือ บริเวณหัว คอ โคนขาหน้าและโคนขาหลังหลังทั้ง4ข้าง ไหล่ทั้ง2ข้าง และโคนหาง ลักษณะแต้มสีดำนี้จะเป็นวงกลมหรือปื้นเหลี่ยมก็ได้ ปลายหางเรียวยาว สีขาว ใครได้แมวเก้าแต้มไว้เลี้ยงดูก็จะทำให้การค้าขายรุ่งเรือง ร่ำรวย คนไทยโบราณมักเลี้ยงไว้ในพระราชสำนัก

บทกวีที่กล่าวถึงแมวเก้าแต้ม

สลับดวงคอโสตรัตต้น    ขาหลัง
สองไหล่กำหนดทั้ง    บาทหน้า
มีโลมดำบดบัง    ปลายบาท สองแฮ
เก้าแห่งดำดุจม้า    ผ่าพื้นขาวเสมอ

รัตนกำพล (พันธุ์แมว)

แมวรัตนกำพล มีขนสีขาวดั่งหอยสังข์ยกเว้นบริเวณลำตัวมีสีดำคาดไว้ นัยน์ตาสีทอง ถ้าใครเลี้ยงไว้จะมียศถาบรรดาศักดิ์ และมีอำนาจบารมี

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวรัตนกำพล

สมยากาเยศย้อม    สีสังข์
ชื่อรัตนกำพลหวัง    ว่าไว้
ดำรัดรอบกายจัง    หวัดอก หลังนา
ตาดั่งเนื้อทองได้    หกน้ำเนียรแสง

นิลจักร

นิลจักร เป็นแมวสีดำอีกชนิดหนึ่ง บริเวณลำคอมีขนขาวเป็นวง เหมือนมีจักรหรือพวงมาลัยคล้องคอ ใครเลี้ยงไว้ จะมากด้วยทรัพย์สินเงินทอง

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวนิลจักร

นิลจักรบอกชื่อช้อย    ลักษณา             
กายดุจกลปีกกา    เทียบแท้
เสวตรจอบรัดกรรฐา    โดยที่
เนาประเทศได้แม้    ดั่งนี้ควรถนอม

มุลิลา

แมวมุลิลา แมวมุลิลานี้ เป็นแมวขนสีดำ ขนเรียบเป็นมัน แต่บริเวณสองหูเป็นสีขาว นัยน์ตาสีเหลืองราวกลีบดอกเบญจมาศ แมวชนิดนี้ ตำราว่าให้เลี้ยงได้เฉพาะพระสงฆ์ ไม่ควรเลี้ยงตามบ้าน

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวมุลิลา

มุลิลาปรากฏแจ้ง    นามสมาน
ใบโสตสองเสวตรปาน    ปักล้วน
ศรีตาผกาบาน    เบญจมาศ เหลืองนา
หางสุดโลมดำถ้วน    บาทพื้นกายเศียร


 กรอบแว่น หรือ อานม้า

กรอบแว่น หรืออานม้า เป็นแมวมีขนสีขาวทั้งตัวยกเว้นกลางหลังนั้นจะมีสีดำเหมือนอานม้าอยู่ และบริเวณขอบตาทั้งสองข้างเป็นสีดำ เหมือนกรอบแว่นตา ใครเลี้ยงไว้จะมีค่ามหาศาล และทำให้มีเกียรติยศชื่อเสียง

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวกรอบแว่น

นามกรอบแว่นพื้น    เสวตรผา
ขนดำเวียนวงตา    เฉกย้อม
เหนือหลังดั่งอานอา    ชาชาติ
งามดั่งวงหมึกพร้อม    อยู่ด้าวใดแสวง


ปัตเสวตร

แมวปัดเสวตร อ่านว่า แมว ปัด-สะ-เวด หรือ ปัดตลอด แมวชนิดนี้มีขนสีดำเป็นมันราบเรียบ ยกเว้นปลายจมูกจนถึงปลายหางมีสีเหลืองดั่งพลอยสะท้อนแสง ใครเลี้ยงไว้จะช่วยชูชื่อเสียงวงศ์ตระกูลให้เป็นที่รู้จักทั่วไป

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวปัดเสวตร

ปัศเวตลักษณนั้น    ปลายนา ษาฤๅ
ขาวตลอกหางหา    ยากพร้อม
รลุมเฉกสลับตา    กายเฟพ เดียวแฮ
ตาดั่งคำซายล้อม    บุศน้ำพลอยเหลือง
กระจอก (((((((((   พันธุ์แมว)

แมวกระจอก แมวดำลักษณะคล้ายแมวโสงหเสพยแต่ลำตัวอ้วนกลมน่ารักกว่า ขนดำเป็นมัน มีสีขาวที่รอบปากเท่านั้นส่วนอื่นๆคล้ายกัน นัยน์ตาสีเหลือง ใครเลี้ยงไว้จะได้ทรัพย์สินเงินทอง เป็นไพร่จะได้กลายเป็นนาย

ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

    * ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีดำ มีขนสีขาว รอบจมูก
    * ลักษณะของส่วนหัว : รูปหัวกลมไม่ใหญ่มาก หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว
    * ลักษณะของนัยน์ตา : นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม (สีเหลืองอมเขียว)
    * ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวกระจอก

มีนามกระจอกนั้น    ตัวกลม งามนา
กายดำศรีสรรพสม    สอดพ้น
ขนขาวเฉกเมฆลม    ลอยรอบ ปากแฮ
ตาประสมศรีชื้น    เปรียบน้ำรงผสาน
สิงหเสพย์

แมวสิงหเสพย์ หรือ แมวโสงหเสพย แมวชนิดนี้มีขนสีดำทั้งตัว แต่มีสีขาวอยู่บริเวณริมฝีปาก จมูกและรอบคอ นัยน์ตาสีเหลืองทอง ใครเลี้ยงไว้จะทำให้มีสมบัติเพิ่ม

ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

    * ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีดำ มีขนสีขาวรอบจมูก และที่คอ
    * ลักษณะของส่วนหัว : รูปหัวกลมไม่ใหญ่มาก หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว
    * ลักษณะของนัยน์ตา : นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม (สีเหลืองอมเขียว)
    * ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวสิงหเสพย์

เสนาะโสงหเสพยชื่อเชื้อ    ดำกาย
ขาวที่ริมปากราย    รอบล้อม
เวียนเถลิงสอสังข์ปลาย    ณาษิก อยู่แฮ
ตาดั่งศรีรงย้อม    หยาดน้ำจางแสง

การเวก (พันธุ์แมว)

แมวการเวก เป็นแมวดำอีกชนิดหนึ่ง แต่ไม่ดำหมดทั้งตัว จะมีแต่ปลายจมูกที่มีแต้มสีขาวเล็กน้อย นัยน์ตาทั้งสองข้างสีเหลืองอำพันสดใส ถ้าได้เลี้ยงจะนำโชคลาภมาให้เจ้าของเปลี่ยนฐานะขึ้นไปเรื่อยๆ

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวการเวก

มีนามการเวกพื้น    กายดำ
ศรีศรลักษณนำ    แนะไว้
สองเนตรเลื่อมแสงคำ    คือมาศ
ด่างที่ณาษาไซร้    เสวตรล้วนรอบเสมอ
จตุบท

แมวจตุบท เป็นแมวสีดำ นอกจากปลายเท้าขึ้นมาจนถึงข้อพับทั้งสี่ข้างเป็นสีขาว นัยน์ตาเป็นสีเหลืองคล้ายดอกโสน ตำราว่าแมวชนิดนี้คนธรรมดาไม่ควรเลี้ยง ควรเลี้ยงเฉพาะราชนิกูล หรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวจตุบท

จตุบทหมดเฟศน้อม    นามแสดง ไว้นา
โลมสกลกายแสง    หมึกล้าย
สี่บาทพิศเล่ห์แลง    ลายเสวตร
ตาเลื่อมศรีเหลืองคล้าย    ดอกแย้มนาโสรน
แซมเสวตร

แมวแซมเสวตร (แปลว่า แซมสีขาว) เป็นแมวชนิด นี้มีขนสีดำ แซมด้วยสีขาวไปทั้งตัว แต่ขนบางและค่อนข้างสั้น รูปร่างบางเพรียว ตามีสีเขียวเหมือนแสงหิ่งห้อย เดิมทีเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้พบอีกครั้ง [1]

บทกวีที่เกี่ยวกับแมวแซมเสวตร

ขนดำแซมเสวตรสิ้น    สรรพภางค์
ขนคู่โลมกายบาง    แบบน้อย
ทรงระเบียบสำอาง    เรียวรุนห์ งามนา
ตาดั่งแสงหิ่งห้อย    เปรียบน้ำทองทา

แมวขาวมณี

แมวขาวมณี หรือ ขาวปลอดเป็นสายพันธุ์ที่พบเห็นได้มากสุดในปัจจุบัน เป็นแมวไทยโบราณที่ไม่ได้มีบันทึกไว้ในสมุดข่อย จึงเชื่อว่าเป็นแมวที่เพิ่งกำเนิดในต้นยุครัตนโกสินทร์นี่เอง นิยมเลี้ยงไว้ในราชสำนักครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 แมวชนิดนี้เป็นที่โปรดปราณมาก ในต่างประเทศนิยมเลี้ยงกันเป็นคู่เพื่อให้ผลัดกันทำความสะอาดขน เป็นแมวที่ค่อนข้างเชื่อง เหมาะสำหรับการเลี้ยงเป็นเพื่อนได้เป็นอย่างดี

ลักษณะเด่นของขาวมณี
      สีขนและผิวกายขาวสะอาด ขนสั้น นุ่ม รูปร่างลำตัวยาวขาเรียว ทรงเพียวลม ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป หัวไม่กลมโต แต่เป็นทรงสามเหลี่ยมคล้ายหัวใจ หน้าผากแบนใหญ่ หูขนาดใหญ่และตั้งตรงจมูกสั้น ดวงตาจะรีเล็กน้อยนัยน์ตาเป็นสีฟ้าหรือเหลืองอำพันสีใดสีหนึ่งเมื่อนำแมวขาว มณีตาสีฟ้า ผสมกับแมวขางมณีตาสี อำพัน ลูกที่ออกมาจะมีตาสองสี คือ สีฟ้าข้างหนึ่งและสีเหลืองอำพันข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ถูกควบคุมโดยยีนด้อยใน แมวขาวมณีแทบทุกตัวจะมีจุดด้อย เช่น ถ้ามีตาสองสีมักมีตาข้างหนึ่งที่ไม่ดี อาจมองเห็นไม่ชัดหรือมองไม่เห็นเลย ถ้าแมวตาสีฟ้ามักจะหูพิการ หรือไม่ได้ยินเสียงมากนัก และแมวตาสีเหลืองอำพันมักมีต่อมขนที่ไม่ดี จุดด้อยอีกข้อของแมวขาวมณีคือความไม่ขาวปลอด มีสีใดสีหนึ่งแซมเข้ามา รวมถึงตาสองข้างเป็นคนละสีกัน (Odd eyes) หรือเป็นสีอื่นสีใดที่ไม่ใช่สีฟ้าหรือเหลืองอำพัน ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับขนที่ยาวมากเกินขนาด หางคด หางขอด หางงอและ หางสั้น

 ลักษณะโดยทั่วไป
ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

    * ลักษณะสีขน: ขนสั้นแน่นและอ่อนนุ่ม สีขาวไม่มีสีอื่นปน สีผิวหนังเป็นสีขาวปลอดทั้งตัว

    * ลักษณะของส่วนหัว: รูปร่างไม่กลม หรือแหลมเกินไป แต่คล้ายรูปหัวใจ ผน้าผากใหญ่และแบน จมูกสั้น หูตั้งใหญ่

    * ลักษณะของนัยน์ตา: นัยน์ตาสีฟ้า หรือสีเหลืองอำพัน

    * ลักษณะของหาง: หางยาว ปลายหางแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขาวยาวเรียวได้ไม่ประเสริฐส่วนกับลำ

ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนมีสีอืนปน นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป (เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว ) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี
แมวขาวมณีตาสองสี

สายพันธุ์ มี 2 สายพันธุ์

    * สายพันธุ์ตาสีเหลืองอัมพัน
    * สายพันธุ์ตาสีฟ้า

ถ้าเอาทั้งสองสายพันธุ์มาผสมกัน จะเกิดเป็นแมวตาสองสี คือข้างหนึ่งสีเหลือง อีกข้างหนึ่งสีฟ้า
 

ทุพลเพศ

แมวทุพลเพศ เป็นแมวร้ายชนิดหนึ่ง มีสีขาวหม่น หางขอด หรือม้วน นัยน์ตาสีแดงเหมือนเลือด ชอบขโมยปลากินในตอนกลางคืน ใครเลี้ยงไว้จะเกิดความเดือดร้อนเป็นประจำ

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวทุพลเพศ

ตัวขาวตาเล่ห์ย้อม    ชานสกา
หนึ่งดั่งโลหิตทา    เนตรไว้
ปลอมลักคาบมัศยา    ทุกค่ำ คืนแฮ
ชื่อทุพลเพศให้    โทษร้อนแรงผลาญ
พรรณพยัคฆ์

แมวพรรณพยัคฆ์ หรือ แมวลายเสือ มีลักษณะคล้ายเสือ มีขนสีมะกอกเขียว หรือมะกอกแดง หยาบกระด้าง นันย์ตาสีแดงดั่งสีเลือด เสียงร้องโหยหวนเหมือนเสียงผีโป่งร้องตามป่าเขา ชอบหลบซ่อนตามที่มืดในเวลากลางวัน ไม่ควรนำมาเลี้ยง เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อน

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวพรรณพยัคฆ์

มีพรรณพยัฆเพศพื้น    ลายเสือ
ขนดั่งชุบครำเกลือ    แกลบกล้อง
สีตาโสตรแสงเจือ    เจิมเปือก ตาแฮ
เสียงดั่งผีโป่งร้อง    เรียกแคว้นพงไสล

 หิณโทษ

แมวหิณโทษ แมวเพศเมียอีกชนิดที่ไม่ควรเลี้ยง แม้ว่าจะมีลักษณะดี ขนสวยงาม เข้ากับเจ้าของได้ดี แต่มีข้อเสียคือ ยามตั้งท้องครั้งใด ลูกแมวมักจะตายในท้องเสมอ ใครเลี้ยงไว้จะนำภัยพิบัติมาสู่บ้าน

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวหิณโทษ

หิณโทษโหจชาติเชื้อ    ลักษณา
เกิดลูกตายออกมา    แต่ท้อง
สันดานเพศกายปรา    กฎโทษ อยู่แฮ
ไภยพิบัติพาลต้อง    สิ่งร้ายมาสถาน

กอบเพลิง
แมวกอบเพลิง เป็นแมวที่ชอบอยู่ตามลำพังตามยุ้งข้าว ตามป่า ไม่ค่อยจะพบคน เวลาพบคนมักกระโดดหนี ชอบทำตัวลึกลับ ให้โทษแก่ผู้ที่นำมาเลี้ยง

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวกอบเพลิง

มักนอนยุ้งอยู่ซุ้ม    ขนกาย อยู่นา
เห็นแต่คนเดินชาย    วิ่งคล้าย
กอบเพลิงกำหนดหมาย    นามบอก ไว้เอย
ทรลักษณชาติค่างร้าย    โทษแท้พลันถึง
 แมวปีศาจ
โบราณถือว่าสัตว์เลี้ยงเพศเมีย ถ้าคลอดลูกออกมาแล้วกินลูกตัวเอง ไม่ว่าสุนัขหรือแมวห้ามเลี้ยงเด็ดขาด แมวชนิดนี้มีรูปร่างเหมือนผีร้าย ตัวผอม หนังเหี่ยวยาน หางขอดนันย์ตาสีแดงเลือด ชอบหลบตามที่มืด กลางวันเซื่องซึม กลางคืนกลับว่องไวปานผีร้าย

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวปีศาจ

ปิศาจจำพวกนี้

อาจินต โทษนา
เกิดลูกออกกิน
ไป่เว้น

หางขดดั่งงูดิน
ยอบขนด
ขนสยากรายเส้น
ซูบเนื้อยานหนัง

 แมวเหน็บเสนียด

เป็นแมวที่พิการมาตั้งแต่กำเนิด โคนหางเป็นสีด่าง เวลานั่งมักเอาหางซ่อนไว้ใต้ก้นเหมือนค่างในป่า มีนิสัยโหดร้าย เที่ยวไล่กัดแมวตัวอื่นอยู่เสมอ ถ้านำมาเลี้ยงจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล

บทกวีที่เกี่ยวข้องกับแมวเหน็บเสนียด 

เหน็บเสนียดโทษร้าย
เริงเข็ญ
ด่างที่ทุยหางเห็น
โหดร้าย

ทรงรูปพิกลเบญ
จาเพศ
แมวดั่งนี้อย่าไว้
ถิ่นบ้านเสียศรี



1 ความคิดเห็น:

  1. สำหรับแมวไทยแล้ว ความน่ารักน่าเอ็นดูของพวกมันไม่ได้ด้อยไปกว่าแมวต่างชาติเลย แต่คนนิยมเลี้ยงกันน้อย ทั้งๆที่อยู่ง่ายกินง่าย น่ารักอีกด้วย

    ตอบลบ